การศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับสีย้อมผ้าไหมโดยใช้ถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับสีย้อมผ้าไหมโดยใช้ถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวและถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์ มีการศึกษาวิธีการเตรียมถ่านกัมมันต์ที่ขนาดและสภาวะการกระตุ้นต่างกัน วิเคราะห์คุณสมบัติบางประการของถ่านกัมมันต์ และนำถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบด้วยไทเทเนียมไดออกไซด์ วิเคราะห์ค่าการดูดซับไอโอดีนและพื้นที่ผิวจำเพาะ และศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับสีย้อมโดยใช้ถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว และถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบไทเทเนียม ไดออกไซด์ และนำสภาวะที่เหมาะสมไปทดสอบการดูดซับในน้ำเสียจริงจากศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ จากการวิเคราะห์สมบัติบางประการของถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว พบว่าถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวให้ผลดีที่ขนาดถ่านกัมมันต์น้อยกว่า 80 เมช สภาวะการกระตุ้น 1:3.5 ให้ผลการศึกษาความสามารถการดูดซับไอโอดีนและคำนวณพื้นที่ผิวจำเพาะของถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว เท่ากับ 1,120.79 mg/g และ 1,073.06 m2 /g ตามลำดับ ถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์ให้ผลการศึกษาความสามารถการดูดซับไอโอดีนและคำนวณพื้นที่ผิวจำเพาะ เท่ากับ 1,155.06 mg/g และ 1,102.48 m2 /g ตามลำดับ การทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดสารละลายน้ำเสียสังเคราะห์สีแอซิดโทนสีแดงของถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว ทุกการทดลองสามารถดูดซับน้ำเสียสีย้อมสังเคราะห์ได้ ประสิทธิภาพการกำจัดสารละลายน้ำเสียสังเคราะห์สีแอซิดโทนสีแดงของถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวที่ให้ผลดีที่สุดในการทดลองครั้งนี้คือ ปริมาณถ่านกัมมันต์ที่ใช้ 4 กรัม ความเป็นกรดด่างของสารละลายอยู่ที่พีเอช 7 ระยะเวลาปั่นกวน 180 นาที โดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ 80 % เมื่อทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดน้ำเสียสีย้อมจากศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ของถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว และถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวเคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์ พบว่าให้ประสิทธิภาพการกำจัดสูงสุดที่ 95.17 เปอร์เซ็นต์และ 85 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับที่เวลา 180 นาทีและค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 7